ทฤษฎีสถาปัตยกรรมและโครงการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ ของ เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก

งานออกแบบหอแสดงดนตรี, ค.ศ. 1864, แบบเชิงกอธิคแต่ใช้วัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่รวมทั้งอิฐ, หิน และ เหล็กหล่อ, “ข้อคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม”

วียอแล-เลอ-ดุกถือกันโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าเป็นนักทฤษฎีคนแรกของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สถาปนิกชั้นนำชาวอังกฤษจอห์น ซัมเมอร์ซันกล่าวว่า “ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยุโรปมีนักทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่สองคน—ลีออน บาตติสตา อัลเบอร์ติ และ เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก”[4]ทฤษฎีสถาปัตยกรรมของวียอแล-เลอ-ดุกส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุที่ใช้กับรูปทรงที่เหมาะสมกับวัสดุ และการใช้รูปทรงดังว่านี้ในการสร้างสิ่งก่อสร้าง หัวใจของทฤษฎีของวียอแล-เลอ-ดุกอยู่ที่การใช้วัสดุอย่าง 'ไม่บิดเบือน' (honestly) วียอแล-เลอ-ดุกเชื่อว่ารูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งก่อสร้างควรจะสะท้อนให้เห็นถึงการก่อสร้างอย่างมีหลักการของสิ่งก่อสร้าง (rational construction) ใน “ข้อคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม” วียอแล-เลอ-ดุกสรรเสริญการก่อสร้างเทวสถานกรีกว่าเป็นการก่อสร้างอันเป็นหลักการที่เป็นตัวอย่างอันดีของการก่อสร้างสถาปัตยกรรม ตามความเห็นของวียอแล-เลอ-ดุก “สถาปัตยกรรมกรีกคือตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและรูปลักษณ์ภายนอก”[5] แต่ก็มีการสันนิษฐานกันว่าทฤษฎีดังกล่าวมีอิทธิพลโดยตรงจากบทเขียนของจอห์น รัสคินผู้เป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีของความเที่ยงตรงในการใช้วัสดุที่เป็นหนึ่งในหลักอันสำคัญเจ็ดประการของสถาปัตยกรรม

ในโครงการสิ่งก่อสร้างใหม่หลายโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ วียอแล-เลอ-ดุกใช้ทฤษฎีที่มาจากสถาปัตยกรรมกอธิคโดยการใช้ระบบการก่อสร้างตามหลักการในการก่อสร้างโดยใช้วัสดุการก่อสร้างสมัยใหม่เช่นเหล็กหล่อ, นอกจากนั้นก็ยังหันไปหาวัสดุธรรมชาติเช่นใบไม้ และ โครงกระดูกสัตว์ในการเป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะปีกค้างคาว ซึ่งเป็นอิทธิพลที่สะท้อนให้เห็นในการก่อสร้างโครงการหอประชุม

งานวาดโครงเสาค้ำยันเหล็ก (trusswork) ของวียอแล-เลอ-ดุกเป็นงานวาดที่ล้ำยุค งานออกแบบหลายอย่างของวียอแล-เลอ-ดุกเป็นงานที่ต่อมามามีอิทธิพลต่อขบวนการอาร์ตนูโวโดยเฉพาะในงานของเอ็คเตอร์ กุยมาร์ด ที่งานมามีอิทธิพลต่อสถาปนิกอเมริกันต่อมาที่รวมทั้งแฟรงค์ เฟอร์เนสส์, จอห์น เวลล์บอร์น รูท, หลุยส์ ซัลลิแวน และ แฟรงค์ ลอยด์ ไรต์[6]